1. พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
ประดิษฐาน ณ วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล หรือมีอีกชื่อว่า พระศรีเมืองทอง มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ <50 เมตร (25 วา)> เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2421 และ 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518
การเดินทาง : 1.สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง3064 ) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
2.ใช้เส้นทางจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 64-65 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร
3.เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร
2.พระพุทธไสยาสน์วัดพระนอนจักรสีห์
ประดิษฐาน ณ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
พระพุทธไสยาสน์วัดพระนอนจักรสีห์ หรือ หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ เป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์เทศนาปาฏิหาริย์ แก่อสุรินทราหู ผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิฎฐิของอสุรินทราหูที่ถือว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ "หลวงพ่อพระนอน" จึงเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาว สร้างโดยท้าวอู่ทอง มีความยาว 3 เส้น 3 วา 2 ศอก 3 คืบ 7 นิ้ว ( 47.40 เมตร ) พระเศียรชี้ไปทางตะวันออก หันพระพักต์ไปทางทิศเหนือ มีความงดงามอย่างมาก
มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า สิงหพาหุมีพ่อเป็นสิงห์พอรู้ความจริงคิดละอายเพื่อนว่าพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงฆ่าสิงห์ตาย ภายหลังรู้สึกตัวกลัวบาปและเสียใจเป็นอย่างมาก จึงสร้างพระพุทธรูป โดยเอาทองคำแท่งโต 3 กำมือ ยาว 1 เส้น เป็นแกนขององค์พระ เป็นการไถ่บาปและพระพุทธรูปมีอยู่ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาหลายชั่วอายุคน จนองค์หลวงพ่อพระนอนได้พังทลายลงเป็นเนินดิน กาลนานต่อมา ท้าวอู่ทอง ได้นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาทางนี้ แล้วพบแกนทองคำฝังอยู่ในเนินดิน และทราบเรื่อง สิงหพาหุ เกิดความเลื่อมใสและเห็นเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา จึงชักชวนพ่อค้าเกวียนก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น โดยใช้ทองแท่งทองคำที่พบนั้นเป็นแกนองค์พระ จน พ.ศ. 2297 และ พ.ศ. 2299 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เสด็จมานมัสการและซ่อมแซมองค์พระพร้อมทั้งได้สร้างพระวิหาร พระอุโบสถ และเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นใหม่ พ.ศ.2423 และ พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จมานมัสการ และวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบันได้เสด็จมานมัสการพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์
การเดินทาง : เส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 3032) ประมาณ 4 กิโลเมตร รถประจำทาง มีรถสาย 648 สิงห์บุรี-บ้านดอนปรู, รถสาย 462 สุพรรณบุรี-โคกสำโรง และรถสองแถว ขึ้นที่ บขส.ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี ผ่านหน้าวัด
3. พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์
ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ หรือ พระนอนวัดโพธิ์ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 ทรงสร้างขึ้นครั้งทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เมื่อ พ.ศ. 2375 คือการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น ได้โปรดฯ ให้ขยายเขตพระอารามออกไปทางทิศเหนือ แล้วโปรดฯให้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นในที่ซึ่งได้ขยายออกไปใหม่นั้น เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนด้านพระพักตร์สูง 15 เมตร มีความยาวทั้งองค์ถึง 46 เมตร
พื้นพระบาทประดับด้วยมุกไฟเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ พระพุทธไสยาสองค์นี้ได้รับการขนานนามว่า เป็นพระพุทธไสยาสองค์ใหญ่ ที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย
การเดินทาง : รถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 43, 44, 47, 53, 60, 82, 91, 123,รถปรับอากาศ สาย 501, 508 Click here to Read more...